SMU เปิดศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศในประเทศไทย มุ่งส่งเสริมนวัตกรรม ผสานความร่วมมือ ขับเคลื่อนการเติบโตสู่ระดับภูมิภาค

โดยทีมการตลาดดิจิทัล มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์

มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ (Singapore Management University หรือ SMU) ยังคงเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ในการขยายขอบเขตสู่ระดับภูมิภาคและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม โดยเปิดตัวศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ในประเทศไทย หรือ Overseas Centre Bangkok (OCB) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยฯ ในการส่งมอบการศึกษาคุณภาพสูงและส่งเสริมการพัฒนาออกไปในระดับภูมิภาค ตามแผนกลยุทธ์ ‘Growth in Asia’ หรือ ‘การขับเคลื่อนการเติบโตในภูมิภาคเอเชีย’

ศูนย์ OCB แห่งนี้พร้อมเป็นศูนย์กลางสำหรับการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยลดช่องว่างระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมผ่านโปรแกรมการศึกษาต่อเนื่องที่ปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อดึงดูดผู้ที่มีความสามารถไปต่อยอดทักษะการศึกษาขั้นสูงที่มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ อีกทั้งยังเพื่อสนับสนุนนวัตกรรม ความเป็นผู้นำ และโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืนในภูมิภาค

คุณเซลีน กวอก (Celine Kuok) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ในประเทศไทย กล่าวว่า “บทบาทของ ศูนย์ OCB นอกจากจะแสวงหาความสัมพันธ์ใหม่ ๆ แล้ว ยังรักษาและส่งเสริมเครือข่ายเดิมที่มีอยู่กับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยเรามุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อสร้างบุคลากรให้พร้อมก้าวสู่โลกแห่ง D-VUCAD (D = disruption – การปฏิรูปไปสู่สิ่งใหม่, V = volatile – การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว, U = uncertain – ความไม่แน่นอน, C = complex – ความซับซ้อน, A = ambiguous – ความคลุมเครือ, D = diversity – ความหลากหลาย) ในอนาคต”

ในระหว่างการสนทนากับคุณเซลีน เราได้ทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้ SMU ตัดสินใจเลือกกรุงเทพฯ เป็นจุดหมายใหม่ในการตั้งศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศ การจัดทำแผนความร่วมมือระหว่าง SMU กับสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมถึงโครงการริเริ่มของศูนย์ฯ ในการสนับสนุนด้านนวัตกรรมและความเป็นผู้นำ

 

กรุงเทพมหานครฯ ศูนย์กลางความก้าวหน้าแห่งเอเชีย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาจนรุดหน้าขึ้นเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาค ทำให้ไทยกลายเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่กระตุ้นการเติบโตและการพัฒนาของภูมิภาค

คุณเซลีน กวอก ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ในประเทศไทย

คุณเซลีน กวอก ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ในประเทศไทย

คุณเซลีน กล่าวว่า “จากการศึกษาความเป็นไปได้และการประเมินที่ครอบคลุมรอบด้าน รวมถึงการหารือกับผู้บริหารระดับสูง เราจึงทราบว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีจำนวนความต้องการด้านการศึกษาต่อเนื่องทางวิชาชีพเป็นอย่างมาก” ข้อมูลที่น่าสนใจเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่มากพอสำหรับ SMU ในการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนแห่งที่สองในประเทศไทย

นอกจากนี้ คุณเซลีน ยังเล็งเห็นว่ารัฐบาลไทยมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมการลงทุน นวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของ SMU โดยเฉพาะศูนย์ปัญญาประดิษฐ์และการธรรมาภิบาลข้อมูล (SMU Centre for AI and Data Governance) ที่ทำงานวิจัยในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล (Data governance), กฎระเบียบของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging Technology Regulation) และกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Law)

SMU ไม่เพียงแต่แสวงหาพันธมิตรที่เป็นองค์กรทางธุรกิจ แต่ยังผนึกความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาของไทย โดยมุ่งเน้นความร่วมมือด้านการเรียนการสอนและการวิจัยในแขนงนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการอย่างเข้มข้น

เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันนวัตกรรมและผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ (SMU Institute of Innovation and Entrepreneurship) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแผนธุรกิจระดับโลกลี กวนยู (Lee Kuan Yew Global Business Plan Competition หรือ LKYGBPC) ครั้งที่ 11 เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมชาวไทยร่วมแข่งขัน โดยมีทีมสตาร์ทอัพจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์เข้าร่วมด้วย

คุณเซลีน กล่าวว่า “ศูนย์ OCB จะจัดกิจกรรมและการสัมมนาออนไลน์เพื่อเปิดพื้นที่ให้เหล่าผู้นำทางธุรกิจและนักวิชาการได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกและร่วมค้นหาเทรนด์ใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลเชิงกลยุทธ์”

 

ความร่วมมือที่ SMU และประเทศไทยต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน

การร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การเติบโตและความสำเร็จร่วมกัน การผนึกกำลังกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ยอมรับนั้นจะช่วยให้องค์กรสามารถเข้าถึงความเชี่ยวชาญและเครือข่ายในท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนในตลาดใหม่ ๆ

คุณเซลีน อธิบายว่า ความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ที่จะพัฒนาทุนมนุษย์ในประเทศไทยได้เป็นที่ประจักษ์ผ่านการร่วมมือเป็นพันธมิตรของมหาวิทยาลัยกับสถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทย และการที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอัตโนมัติ (automation) และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digitisation) นั้นสอดคล้องกับโปรแกรมการศึกษาที่ SMU Academy และ Executive Development ซึ่งเป็นหน่วยงานฝึกอบรมวิชาชีพของ SMU ได้จัดทำขึ้น

คุณเซลีน ยังเพิ่มเติมว่า “สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นี่จึงเป็นทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ในการพลิกโฉมด้านดิจิทัลของประเทศไทย” ทั้งนี้ คุณเซลีน มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโปรแกรมความเป็นผู้นำ และมาประจำการอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560

หนึ่งในความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมคือ การลงนามกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย โดยมุ่งเน้นที่การนำเสนอทักษะ Soft Skill และ Hard Skill ให้แก่ผู้ที่ประกอบอาชีพด้านเฉพาะทาง นอกจากนี้ บทบาทของ SMU ในฐานะพันธมิตรหลักที่มีส่วนกำหนดกลยุทธ์ภายในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN Universities Network) ยังช่วยให้ SMU ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าในการยกระดับทุนมนุษย์และคุณภาพการศึกษาทั่วทั้งภูมิภาค

คุณเซลีน กล่าวเสริมว่า “ศูนย์ OCB พร้อมเป็นผู้สร้างความแตกต่างให้กับ SMU โดยเราได้กำหนดเป้าหมายสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นเสาหลักของเอเชีย พร้อมทั้งจัดตั้งสำนักงานในตลาดหลัก ๆ เพื่อให้บริการชุมชนท้องถิ่นและทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือในระดับภูมิภาค”

 

แรงกระตุ้นการเติบโตในภูมิภาคเอเชีย

เพื่อสร้างระบบนิเวศที่พร้อมรองรับการแบ่งปันการเป็นผู้นำทางความคิด ศูนย์ OCB จึงได้ริเริ่มจัดตั้งโครงการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

ศูนย์ OCB ทำหน้าที่เสมือนศูนย์การเรียนรู้ครบวงจรที่พร้อมให้บริการและสนับสนุนนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนคณาจารย์และพันธมิตรอย่างครอบคลุมผ่านการติดต่อศูนย์แห่งนี้เพียงจุดเดียว คุณเซลีนเน้นย้ำว่า ศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ทั้งสามแห่งในกรุงจาการ์ตา กรุงเทพฯ และนครโฮจิมินห์จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถนำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดไปปรับใช้ได้รวดเร็ว พร้อมทั้งปรับตัวตามเทรนด์ที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละประเทศ

โดยสรุปแล้ว ศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ในการขยายเครือข่าย และพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่มีความจำเพาะในการดำเนินงานในเอเชีย

นอกจากนี้ ศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ยังเป็นเหมือนสถานทูต ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับและส่งเสริมภาพลักษณ์ของ SMU ไปสู่ในระดับนานาชาติ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจต่อไป

คุณเซลีน กล่าวเน้นว่า “ศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ในประเทศไทย ทำหน้าที่เป็น ‘หูและตา’ ที่คอยติดตามข้อมูลข่าวสารการพัฒนาล่าสุดในประเทศ โดยมอบข้อมูลทางการตลาดที่แม่นยำฉับไว เพื่อใช้ในการจัดทำแผนงานนำเสนอที่ตรงกับความต้องการของตลาดโดยเฉพาะ”

SMU ยังคงเดินหน้าขยายความร่วมมือและการดำเนินงานไปทั่วโลก พร้อมทั้งส่งเสริมการเติบโตในระดับภูมิภาค ศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ในประเทศไทย ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของ SMU ในการกำหนดอนาคตของการศึกษาและความร่วมมือในเอเชีย และด้วยแนวทางที่มีวิสัยทัศน์ ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ และความมุ่งมั่นเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้นเหล่านี้จึงพร้อมแล้วที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปทั่วทั้งภูมิภาค

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ในประเทศไทย คลิกที่นี่